ประวัติอำเภอสะเมิงโดยย่อ
เมื่อประมาณ 200 ปี ที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ. 2250 – 2350 ดินแดนแห่งนี้เป็นป่าใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยจตุบาทนานาชนิด และมวลหมู่แมกไม้นานาพันธุ์ซึ่งกาลครั้งนั้นอาณาจักรล้านนาแทบจะลุกเป็นไฟด้วยภัยสงคราม เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างแว่นแคว้นต่าง ๆ ในราชอาณาจักร การขยายอำนาจของพม่าเป็นการศึกที่สู้รบกันอย่างรุนแรงและยาวนาน ทั้งยังเกิดการจราจลในเมืองเชียงใหม่ สถานการณ์ยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านเดือดร้อน จึงต่างอพยพหลบหนีภัยสงคราม บ้างหนีเข้าป่าไปตายเอาดาบหน้าชาวไทยลื้อและกะเหรี่ยงได้อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้าป่าขึ้นเขามายังดินแดนแห่งนี้ และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน ดงช้างแก้วพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านศาลา และพวกที่สามตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ บ้านแม่สาบ (จากคำบอกเล่าของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ นักโบราณคดีเมืองเหนือ) และไทยลื้อบ้านแม่สาบ อพยพเข้ามาอยู่สะเมิงประมาณ พ.ศ. 2324 คำว่า “สะเมิง” ได้กำเนิดขึ้นจากคำว่า “สามเมิง” ตามสำเนียงภาษาไทยลื้อ ที่เรียก “เมือง” ว่า “เมิง” ดังนั้นคำว่า “สามเมิง” ตามความหมายก็คือ คำที่มาจากการตั้งถิ่นฐานทั้งสามบ้าน สามเมือง นั่นเอง บางท่านสันนิษฐานว่ามาจากภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีความหมายว่า “แสงสว่าง”
อำเภอสะเมิง ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2445 ขึ้นตรต่อจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภออยู่ได้ 35 ปี ทางราชการเห็นว่าอำเภอสะเมิงอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวกและการควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง จึงยุบฐานะเป็น “กิ่งอำเภอสะเมิง” เมื่อ พ.ศ. 2480 และต่อมาได้ยกฐานะเป็น “อำเภอสะเมิง” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2501 จนถึงปัจจุบัน



อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่วาง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่ริม อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอสะเมิง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,002 ตารางกิโลเมตร หรือ 626,250 ไร่ พื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ประมาณ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำขานและแม่น้ำสะเมิง พื้นที่การใช้ประโยชน์ของอำเภอสะเมิง เป็นพื้นที่การเกษตร 24,391 ไร่ หรือ ร้อยละ 3.89 ของพื้นที่ทั้งหมด แยกเป็นพื้นที่ปลูกถั่ว 12,184 ไร่ หรือร้อยละ 40.8 ของพื้นที่ การเกษตร พื้นที่ทำสวน 9,769 ไร่ หรือร้อยละ 34.6 ของพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่ทำไร่ 4,223 ไร่ หรือร้อยละ 17.3 ของพื้นที่การเกษตรและ พื้นที่ปลูกซ้ำซ้อนพื้นที่เดิมของพืชสวน 7.1 %

ลักษณะภูมิอากาศ
อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 22 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 114 มม./ปี โดยวัดปริมาณน้ำฝน สูงสุด 166 มม./ปี ต่ำสุดระหว่างเดือน กรกฎาคม – ตุลาคม